กิจกรรม

การควบคุมหนอนกออ้อยโดยใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ

การควบคุมหนอนกออ้อยโดยใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ

หนอนกออ้อย ทำลายอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะอ้อยแตกกอทั้งอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอ ระบาดรุนแรงในสภาพที่อุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ ภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงหนอนกอลายจุด หนอนจะเข้าทำลายในระยะหน่อ ทำให้อ้อยเกิดอาการยอดแห้งตาย เมื่ออ้อยอยู่ในระยะย่างปล้องหนอนจะเจาะลำต้น และยอดอ้อย

หนอนกออ้อย ที่สำคัญที่พบเข้าทำลายอ้อย มี 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิว ดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้หนอนยังเข้าทำลายอ้อยใน ระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว หนอนเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินส่วนโคนยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอด แห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิก งอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่ สามารถสร้างปล้องอ้อยให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะ แตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง เกิดอาการ แตกยอดพุ่ม

นอนกอสีชมพู หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนของหน่ออ้อย ระดับผิวดิน เข้าไปทำลายส่วนที่กำลัง เจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอด แห้งตาย ถึงแม้หน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่เพื่อชดเชยในระยะหลังจะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

การป้องกันกำจัด

ตัวห้ำ (Predators) เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินศัตรูอ้อยเป็นอาหาร เช่น แมลงหางหนีบ (Earwig) ที่มีความสามารถในการเสาะหาเหยื่อตามซอกมุมได้เป็นอย่างดี กินไข่ศัตรูพืชเป็นอาหาร โดยใช้แพนหางลักษณะคล้ายคีมหนีบลำตัวเหยื่อแล้วกัดกิน ถ้าเป็นไข่ศัตรูพืชหรือแมลงศัตรูพืชขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยอ่อน แมลงหางหนีบจะกัดกินโดยตรง ทั้งนี้ แมลงหางหนีบ 1 ตัวจะสามารถกินเหยื่อได้ประมาณ 20-30 ตัวต่อวัน ทั้งนี้หากแมลงหางหนีบอิ่มแล้ว และยังเจอตัวหนอน จะใช้แพนหางหนีบจนกระทั่งตัวหนอนตาย และจากไปโดยไม่กินและจะหนีบต่อไปเรื่อย ๆ

ตัวเบียน (Parasites) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเบียดเบียนด้านบนหรือด้านในตัวศัตรูอ้อยเพื่อการเจริญเติบโต หรือดำรงอยู่จนครบวงจรชีวิต ทำให้เหยื่ออ่อนแอและตายในที่สุด เช่น แตนเบียน และไส้เดือนฝอย โดยตัวเบียนมีบทบาทมากในการควบคุมปริมาณศัตรูอ้อย อาทิ แตนเบียนไข่ตริโกแกรมม่า และแตนเบียนไข่โคทีเซีย ซึ่งใช้ควบคุมหนอนกออ้อยแพร่หลาย

·     แตนเบียนไข่ตริกโคแกรมมา (Trichogramma sp.) ที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะมีขนาดลำตัว ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีตาสีแดง หนวดเป็นปล้องหักพับแบบข้อศอกปีกเป็นแผ่นกว้าง บริเวณเส้นปีกมีขนอ่อนเรียงเป็นแถวชัดเจน ในระยะไข่ ตัวอ่อนและดักแด้ จะเจริญเติบโตอยู่ภายในไข่ของแมลงอาศัย แตนเบียนไข่ตริกโคแกรมมา จะวางไข่ในไข่ของผีเสื้อหนอนกออ้อย ทำให้ไข่ของหนอนกออ้อยเปลี่ยนเป็นสีดำและไม่ฟักเป็นหนอน

·        แตนเบียนหนอนโคทีเซีย (Cotesia spp.)เป็นแมลงเบียนระยะหนอนของหนอนกออ้อย ตัวเต็มวัยมีสีดำขนาด1.0 - 2.0 มิลลิเมตร วางไข่ในลำตัวหนอนกออ้อย เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนจะดูดกินอยู่ภายในตัวหนอนกออ้อย หนอนของแตนเบียนที่โตเต็มที่จะเจาะผนังลำตัวหนอนกออ้อยออกมาสร้างรังดักแด้ หนอนกออ้อยที่ถูกแตนเบียนโคทีเซียเข้าทำลายจะมีตัวเหลืองซีด เคลื่อนไหวช้า ไม่กินอาหารและตาย โดยแตนเบียนตัวเมียจะมุดเข้าไปในรูที่หนอนกออ้อยเจาะทำลาย เมื่อพบหนอนกออ้อยก็จะแทงอวัยวะวางไข่เข้าไปในตัวหนอนกออ้อย เพื่อวางไข่คราวละมาก ๆ (35 – 60 ฟอง) ต่อครั้ง ไข่แตนเบียนที่อยู่ในตัวหนอนกออ้อยจะฟักเป็นตัวหนอนแตนเบียน ดูดกินอยู่ภายในตัวหนอนกออ้อย เมื่อหนอนแตนเบียนโตเต็มที่จะไชทะลุตัวหนอนกออ้อย ออกมาเข้าดักแด้โดยมีเส้นใยเหมือนใยไหมพันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ สีขาว ตัวหนอนกออ้อยก็จะตายไป เมื่อดักแด้แตนเบียนใกล้ฟักจะมีสีดำเมื่อแตนเบียนฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัยจะ ผสมพันธุ์ แล้วตัวเมียจะไปวางไข่ในตัวหนอนกออ้อยต่อไป

สารเคมี เมื่อพบการระบาดของหนอนกออ้อย และทำให้อ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ พ่นสารอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นโดยใช้น้ำ 60 ลิตรต่อไร่

เรียบเรียงโดย

ลัทธพล ฤทธิ์ไธสง

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร


ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา

Visits:338 Today: 4

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

กลับสู้ด้านบน